พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565

 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป    โดยสาระสำคัญ มีดังนี้

          – แก้ไขเรื่องจำนวนขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อการและตั้งบริษัทจำกัด จากเดิมที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีไม่ต่ำกว่า 3 คน เปลี่ยนเป็น 2 คนขึ้นไปเริ่มก่อการและตั้งบริษัทจำกัดได้  ( มาตรา 1097 )

          – หากการจดทะเบียนบริษัทมิได้ทำภายใน 3 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ให้หนังสือบริคณห์สนธินั้นสิ้นผล ( มาตรา 1099 )

          – กำหนดให้ในใบหุ้นทุกๆ ใบ ให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทด้วย (ถ้ามี)  จากเดิมที่กำหนดให้เพียงกรรมการลงลายมือชื่อ ( มาตรา 1128 )

          – กำหนดให้การประชุมกรรมการอาจดำเนินการติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยี โดยกรรมการไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวในที่ประชุมก็ได้  ( เพิ่มเติม มาตรา 1162/1 )

          – เพิ่มวิธีการบอกกล่าวการเรียกประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  ( มาตรา 1175 )

          – กำหนดการจ่ายเงินปันผลให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี จากเดิมกำหนดเพียงให้กระทำ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ ( มาตรา 1201 )

          – แก้ไขเหตุที่ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัด จากเดิมใน มาตรา 1237(4) ที่กำหนดจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึง 3 คนศาลอาจสั่งให้เลิกได้   เป็นจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือเพียงคนเดียว  

         – ยกเลิกชื่อส่วนที่ 9 การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน เปลี่ยนเป็น ส่วนที่ 9 การควบรวมบริษัทจำกัด และแก้ไข มาตรา 1238 ถึง มาตรา 1243 ใหม่

          อ่านเพิ่มเติมคลิกที่นี่  พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565

แชร์บทความ

Leave a Comment

Scroll to Top