แนวปฏิบัติตามมาตรา 23/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 20 ก  วันที่ 19 มีนาคม 2566  โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 ที่ผ่านมานั้น  เพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรา 23/1 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการสร้างความรับรู้ให้แก่นายจ้าง – ลูกจ้างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้จัดทำแนวปฏิบัติและตัวอย่างข้อตกลงสำหรับนายจ้าง – ลูกจ้าง โดยมีสาระสำคัญดังนี้

          1. นายจ้างและลูกจ้างจะต้องทำข้อตกลงเป็นหนังสือหรือทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยการตกลงมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

              (1)   ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง

              (2)   วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา

              (3)   หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด รวมทั้งการลาประเภทต่างๆ

              (4)   ขอบเขตหน้าที่การทำงานของลูกจ้างและการควบคุมหรือกำกับการทำงานของนายจ้าง

              (5)   ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นอันเนื่องจากการทำงาน

          2. กรณีนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันโดยทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ นายจ้างจะต้องมีการกำหนด

      (1)   รูปแบบ

      (2)   ขั้นตอน

      (3)   วิธีการรับ – ส่ง ข้อมูล

      (4)   การเก็บรักษา

      (5)   การเข้าถึงข้อมูลรวม

      (6)   การลงลายมือชื่อ เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่อ  

          3. เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน  ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใดๆ เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้า แม้ลูกจ้างจะยินยอมให้นายจ้างติดต่อสื่อสารหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาทำงานปกติ การติดต่อสื่อสารดังกล่าวควรติดต่อเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากติดต่อให้ลูกจ้างทำงาน ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้ถูกต้องตามกฎหมาย

          4. สถานที่ทำงานนอกสถานประกอบกิจการที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกัน จะต้องเป็นสถานที่ทำงานที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง โดยลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานได้โดยสะดวก สำหรับกรณีนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ ให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกัน          5. ในกรณีที่นายจ้างมีการตกลงกับลูกจ้างให้ลูกจ้างสามารถทำงานในทางการที่จ้างหรือที่ตกลงไว้กับนายจ้างไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือตกลงกันให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศก่อนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับ โดยไม่มีการจัดทำเป็นหนังสือหรือข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ นายจ้างมีหน้าที่จัดทำเป็นหนังสือหรือข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

แชร์บทความ

Leave a Comment

Scroll to Top