ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้อง กรณีรัฐสภาห้ามโหวต ‘พิธา’ ซ้ำ   เหตุผู้ร้องไม่ได้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ โดยตรง มีมติไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

วันที่ 16 สิงหาคม 2566  ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดี โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

กรณีรัฐสภา (ผู้ถูกร้อง) มีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่ 2  เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีก ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272                                                                  

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง สรุปได้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากบุคคลผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้ร้องเรียนทุกคนกล่าวอ้างว่า การที่รัฐสภามีมติดังกล่าวละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทุกคนและขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ แต่บุคคลที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงสำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอและเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตาม มาตรา 88 เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ว่า จะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมีช่องทางในการยื่นคำร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา

ศาสรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป

แชร์บทความ

Leave a Comment

Scroll to Top