เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่รูปแบบการทำงานในองค์กรธุรกิจต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมี ‘การทำงานจากที่พักอาศัยของลูกจ้าง’ หรือ ‘เวิร์กฟรอมโฮม’ (Work From Home) หรือจากสถานที่อื่น ๆ ซึ่งอยู่นอกสถานประกอบการของนายจ้างมากขึ้น
ด้วยเหตุผลข้างต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและออกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 8 พ.ศ.2566 โดยได้เพิ่มเติมบทบัญญัติที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้ได้ความคุ้มครอง เป็นประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง ตลอดจนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิง ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ หรือ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 เป็นต้นไป
สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566
- พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) ได้เพิ่มบทบัญญัติ มาตรา 23/1 ให้นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างนำงานในทางการที่จ้าง ที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบการหรือนอกสำนักงานของนายจ้าง ไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือ ตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ ได้
- การตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อาจตกลงให้มีรายละเอียด เช่น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา การลา ขอบเขตหน้าที่ของลูกจ้าง การกำกับควบคุมของนายจ้าง ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นที่มาจากการทำงานด้วย
- โดยเมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่มีการตกลงกันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใด ๆ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน